เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยันปี 2558 ใช้ o-net จบช่วงชั้นแค่ 30% แนะควรคงไว้อย่างน้อย 3 ปี ปลื้มคะแนน o-net นักเรียนสังกัด สพฐ. สูงขึ้น
วันที่ 18 มีนาคม 2558 นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (o-net) ปีการศึกษา 2557 ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ว่า นักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีผลคะแนน o-net ออกมาน่าพึงพอใจ โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าปี 2556 2556 โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
- วิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนาธรรม มีค่าคะแนนเฉลี่ยจาก 38.31 เพิ่มเป็น 50.67
- วิชาภาษาอังกฤษ 33.82 เพิ่มเป็น 36.02
- วิชาวิทยาศาสตร์ 37.40 เพิ่มเป็น 42.13
ส่วนวิชาที่ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยลดลงจากปี 2556 คือ
- วิชาภาษาไทยจากค่าคะแนนเฉลี่ย 45.02 เป็น 44.88
- วิชาคณิตศาสตร์ 41.95 เป็น 38.06
ขณะที่นักเรียนที่ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ใน 1 วิชา พบว่ามีจำนวน 433 คน และนักเรียนที่ได้คะแนนเต็มเกิน 1 วิชา มีจำนวน 85 คน นอกจากนี้ยังพบว่า ผลคะแนนของนักเรียน ม.3 ก็มีคะแนนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
นายกมล กล่าวต่อว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะความทุ่มเทและการทำงานอย่างหนักของ สพฐ. และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ที่ต้องการยกระดับผลคะแนนโอเน็ตให้สูงขึ้น ส่วนบางวิชาที่ได้คะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยนั้น ทาง สพฐ. จะต้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์หาสาเหตุตามรายเขตพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพต่อไป
ส่วนประเด็นที่กลุ่มเครือข่ายยุวทัศน์ไม่ต้องการให้ใช้คะแนนโอเน็ตมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการตัดสินจบช่วงชั้นนั้น ในเรื่องนี้ยังคงต้องรอการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในหลักทางวิชาการแล้วประเด็นนี้สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้และยังมีเวลาอีกพอสมควร ดังนั้น สพฐ. จะหาทางแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด และขอยืนยันว่า ในปีการศึกษา 2558 จะใช้ผลคะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียนระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ในสัดส่วน 30% ร่วมกับคะแนนผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) 70% แม้ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะระบุว่า ปีต่อไปจะมีการเพิ่มสัดส่วนคะแนนโอเน็ต เป็น 50% ก็ตาม เนื่องจาก สพฐ. มองว่า การเพิ่มสัดส่วนลักษณะนี้เป็นการก้าวกระโดดเกินไป และอาจทำให้เด็ก ๆ เตรียมตัวไม่ทัน และโดยส่วนตัวคิดว่าการเพิ่มสัดส่วนโอเน็ตสำหรับจบช่วงชั้นนั้น ควรคงสัดส่วนไว้ที่ 30% อย่างน้อย 3 ปี หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนประกาศในการเพิ่มสัดส่วนใหม่ ไม่ใช่การปรับเพิ่มทุกปีแบบก้าวกระโดด เพราะจะทำให้เด็กรับภาระหนักเกินไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก