x close

นักเรียน VS. สทศ. กับข้อโต้แย้ง O-Net

แอดมิชชั่น


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         นับเป็นประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ สำหรับปัญหาข้อสอบ "o-net 53" ที่บรรดานักเรียนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นข้อสอบที่มี ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่สามารถวัดศักยภาพของนักเรียนได้  ซึ่งหลังจากมีการนำข้อสอบ บางข้อมาเผยแพร่ผ่านสื่อแล้ว ก็ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความคลางแคลงใจในสังคมว่า ข้อสอบในลักษณะนี้จะสามารถวัดศักยภาพนักเรียนได้จริง อย่างที่ สทศ. กล่าวหรือไม่ ขณะเดียวกัน สทศ. ก็ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับประเด็นนี้

         ล่าสุด รศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ได้ออกมาตอบคำถาม เรื่อง ข้อสอบ o-net ผ่านรายการวู้ดดี้ เกิดมาคุย ที่ออกอากาศ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2553 ว่า ข้อสอบ o-net 53 เป็นข้อสอบที่ออกตรงตามหลักสูตรใหม่ทุกประการ เป็นข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งแม้ตัวเลือกในข้อสอบแต่ละข้อจะเป็นคำตอบที่ถูกทั้งหมด แต่หากคิดดี ๆ แล้วจะมีคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียวเท่านั้น ส่วนเรื่องที่นักเรียนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ตนเห็นว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยนั้นมีปัญหา นักเรียนยังไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ดีพอ หรือมีการคิดวิเคราะห์ที่ค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เด็กไทยมี ความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้

         นอกจากนี้ รศ.ดร.อุทุมพร ยังคงยืนยันว่า สทศ. ออกข้อสอบโอเน็ตตรงตามเป้าหมายของหลักสูตรทุกประการ แต่เมื่อผู้เข้าสอบมีความเห็นว่าการออกข้อสอบไม่มีความเป็นธรรมแล้ว ก็ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ที่ออกหลักสูตรการศึกษา เพราะ สทศ. เป็นเพียงผู้ดำเนินการออกข้อสอบตามหลักสูตรเท่านั้น

         ขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่ ที่เข้าสอบโอเน็ตในครั้งนี้ ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ข้อสอบในลักษณะนี้มาวัดศักยภาพของเด็ก เพราะต่างคนต่างมีวิธีคิดที่ต่างกัน ดังนั้นการเลือกคำตอบที่ "ถูกต้องที่สุด" จึงเป็นไปตามความคิดของแต่ละคนอยู่แล้ว การออกข้อสอบโอเน็ตในลักษณะนี้จึงชี้ให้เห็นว่าเป็นการใช้ความคิดของคน ๆ เดียวตัดสินความ ถูกผิดของสถานการณ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าสอบที่มีความหลากหลายทางความคิด และไม่ใช่ข้อสอบที่วัดอะไรได้เลย หากผู้เข้าสอบต้องมาเดาความคิดของผู้ออกข้อสอบ

         อย่างไรก็ตาม ในรายการได้มีการถามนักเรียนที่เคยทำ ข้อสอบ o-net 53 ว่าข้อไหนที่เห็นว่า สทศ. ไม่ควรออกข้อสอบ หรือเห็นว่าข้อสอบดังกล่าวมีคำตอบที่ถูกทุกข้อ และได้ไปถามคำเฉลยข้อสอบ o-net พร้อมเหตุผลอธิบาย จาก รศ.ดร.อุทุมพร ด้วย ซึ่งตัวอย่างข้อสอบที่พูดถึงในรายการวู้ดดี้เกิดมา คุยมาคุย อาทิ


 ข้อใดเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้ดีที่สุด

         1. หยุด เรียนไประยะหนึ่งเพื่อคลอดลูก

         2. ทำแท้งเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ 

         3. ลาออกจากโรงเรียนแล้วหางานทำเพื่อลูก

         4. แจ้งความเพื่อหาผู้รับผิดชอบ

         ซึ่ง รศ.ดร.อุทุมพร ได้เฉลยว่า ข้อ 1 คือคำตอบทึ่ถูกต้องที่สุด เพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว ส่วนการทำแท้งเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด เพราะผิดศีลธรรม หรือการลาออกจากโรงเรียนแล้วหางานทำเพื่อลูก ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะ น.ส.นิด เรียนอยู่แค่ ม.5 แล้วท้องด้วย จะไปทำงานอะไรได้

         ขณะที่นักเรียนก็โต้แย้งว่า คำถามนี้ไม่ชัดเจน เพราะโจทย์ไม่ได้บอกว่า นางสาวนิดตั้งครรภ์เนื่องจากสาเหตุใด ซึ่งหากจะตอบว่าทำแท้งก็ได้ในกรณีที่นางสาวนิดถูกข่มขืน เพราะฉะนั้นคำตอบข้อนี้มีหลากหลายขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งทางผู้ออกข้อสอบไม่ได้ระบุมาเลย

 นักเรียนอยากคบเพื่อนแบบใด

         1. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  (อาจจะดี แต่ไม่ใช่ที่สุด)

         2. เอาใจ เขามาใส่ใจเรา  (ดีที่สุดแล้ว เพราะหมายถึงการแคร์ เห็นใจผู้อื่น)

         3. ยิ้มแย้มแจ่มใส  (เอาแต่ยิ้มแต่ใจอาจจะคิดไม่ดีก็ได้)

         4. พูดจาไพเราะ  (แต่ในใจอาจคิดไม่ดีก็ได้เช่นกัน)

         ซึ่ง รศ.ดร.อุทุมพร ได้เฉลยว่า ข้อ 2 เพราะเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงการแคร์ และเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะนำมาซึ่งการปฏิบัติตนที่ดีต่อผู้อื่น ส่วนการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นอาจจะดีแต่ไม่ใช่ที่สุด ส่วนการยิ้มแย้มแจ่มใสและพูดจาไพเราะนั้นเป็นแค่การแสดงออกภายนอก ซึ่งอาจจะเสแสร้งขณะที่ในใจคิดไม่ดีอยู่ก็เป็นได้

         ขณะที่นักเรียนได้โต้แย้งว่า ทั้งหมดเป็นคุณสมบัติของเพื่อนที่ดี ซึ่งการเลือกคบเพื่อนก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะชอบคนยิ้มแย้มแจ่มใส บางคนอาจจะชอบคนพูดเพราะ บางคนอาจชอบคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากกว่า ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

 ปัจจัยของความเครียดข้อใดที่นพวรรณคิดว่ามีผลกระทบต่อ การเล่นมากที่สุด

         1. การตัดสินที่ไม่เป็นธรรม

         2. การประเมินความสามารถโดยบุคคลอื่น

         3. ผู้ฝึกสอนเข้มงวดเกินไป
          
         4. ความสำคัญของการแข่งขัน

         โดย รศ.ดร.อุทุมพร ได้เฉลยว่า ข้อ 4. ถูกที่สุด เพราะนักกีฬาไม่ว่าประเภทไหนต้องเครียดกับเรื่องนี้ที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นนักเรียนต้องรู้ในจุดนี้ด้วย หากนักเรียนไม่รู้ก็ทำข้อสอบไม่ได้แน่นอนอยู่แล้ว

         ขณะที่นักเรียนก็โต้แย้งว่า ผู้ทำข้อสอบไม่ใช่นพวรรณ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่านพวรรณมีความเครียดเรื่องใดมากที่สุด คำถามข้อนี้เป็นคำถามที่ถามความรู้สึกส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีผู้อื่นรู้ได้นอกจากเจ้าตัวเลย

         นอกจากนี้ยังมีข้อสอบอีกหลายข้อที่ รศ.ดร.อุทุมพร ไม่ได้ตอบคำถามในรายการ แต่เป็นข้อที่มีคำตอบที่หลากหลายเกินกว่าที่จะนำมาใช้เป็นวัดมาตรฐานเด็กได้  เช่น

 ข้อใดไม่เข้าพวก
           
         1. กอล์ฟ

         2. หมากรุก

         3. ปาลูกดอก

         4. โยคะ

         จากข้อสอบในข้อนี้ นักเรียนต่างมีความเห็นว่าเป็นคำถามที่สามารถคิดได้หลายทาง หากจะมองในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ในการเล่น ก็จะพบว่าโยคะ ไม่เข้าพวกหากมองในเรื่องของจำนวนคนในการเล่น กอล์ฟ โยคะ ปาลูกดอก สามารถเล่นคนเดียวได้ แต่หมากรุกไม่สามารถเล่นคนเดียวได้ ข้อสอบข้อนี้จึงเป็นอีกหนึ่งข้อที่แสดงให้เห็นว่าข้อสอบโอเน็ตที่ สทศ. อ้างว่าสามารถวัดการคิดวิเคราะห์ของผู้เข้าสอบได้นั้น เป็นข้อสอบที่ไม่มีคุณภาพ

         นอกจากนี้ ยังมีการโต้แย้งในเรื่องของการเรียงลำดับขั้นตอนในการซักผ้า และการจัดอาหาร และผ้าปูโต๊ะ ซึ่งผู้เข้าสอบมีความเห็นตรงกันว่า แต่ละบ้านมีขั้นตอนในการซักผ้าที่ต่างกัน รวมถึงผ้าแต่ละชนิดก็มีวิธีการซักที่ต่างกัน หรือแม้แต่การจัดอาหาร จัดสถานที่สำหรับงานต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลมากกว่า

         สรุปแล้วว่า แม้จะมีการออกมาชี้แจงเกี่ยวกับข้อสอบโอเน็ตจากผู้ที่ออกข้อสอบแล้ว แต่ดูเหมือนว่าก็ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลในการออกข้อสอบในครั้งนี้ ขณะผู้เข้าสอบก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ออกข้อสอบ แม้จะอ้างว่าเป็นข้อสอบวัดการคิดวิเคราะห์อย่างไร แต่ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ฟังไม่ขึ้นเลยสำหรับผู้เข้าสอบ ก็คงต้องติดตามต่อไปแล้วว่า สทศ. จะมีการชี้แจงคำตอบที่ชัดเจนกว่านี้หรือไม่ และท้ายที่สุดแล้วจะมีวิธีการจัดการกับปัญหานี้อย่างไร แต่ที่แน่ ๆ เรื่องนี้คงไม่จบง่าย ๆ หากผู้เข้าสอบยังเห็นว่าคำตอบของ สทศ. ไร้ซึ่งเหตุและผล และพวกเขายังคงมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ข้อสอบที่จะวัดคนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยยังมีความคลุมเครือ และไม่สามารถใช้วัดศักยภาพผู้เข้าสอบได้อย่างแท้จริง





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  ,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเรียน VS. สทศ. กับข้อโต้แย้ง O-Net อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2553 เวลา 10:48:27 3,283 อ่าน
TOP