x close

สทศ. ไม่หวั่น ยัน เดินหน้าปรับข้อสอบ โอเน็ต

แอดมิชชั่น


สทศ.ไม่ยั่นเดินหน้าปรับข้อสอบโอเน็ตม.6 (ไทยโพสต์)

         สทศ.เซ็ง! เจอผู้ปกครองโวยผ่านสื่อ คำถามโอเน็ต ป.6 ล่อแหลม "สัญลักษณ์ห้องน้ำชาย-หญิง เป็นไง" ขณะที่ ม.6 เอาด้วย บอกเปลี่ยนข้อสอบทำไมบอกล่วงหน้ากระชั้นชิด อ้างเตรียมตัวไม่ทัน ด้าน "อุทุมพร" กุมขมับแจง ต้องการเน้นคิดวิเคราะห์ แต่ปรับแค่เบาะ ๆ 10-20% และในบางวิชาเท่านั้น หวังลดเดา ยันโอเน็ต ม.6 ปีหน้าเพิ่มข้อสอบ 2 รูปแบบทุกวิชา เตรียมให้คะแนนฟรี 16 คะแนน วิชาภาษาไทย ถามเรื่องใน กทม.ทำเด็กต่างจังหวัดงง

         รศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทุจริตการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมจากศูนย์สอบมหาวิทยาลัย ส่วนกรณีเด็กใช้น้ำยาลบคำผิดทำสัญลักษณ์คำตอบบนดินสอ ปากกา และไม้บรรทัด ในการสอบโอเน็ต ชั้น ม.6 โดยอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลังนั้น จากการพูดคุยกับเด็กล่าสุดยังคงยืนยันว่าเป็นเครื่องราง ซึ่ง สทศ.จะเชิญเด็กคนดังกล่าวมาพูดคุยเร็วๆ นี้เพื่อจะได้รู้วิธีคิด เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการคุยทางโทรศัพท์และเด็กไม่สะดวกใจที่จะให้ไปคุยที่บ้าน ตนคิดว่าเด็กคนนี้คงมีความผิดปกติ เพราะอายุ 28 ปีแล้ว แต่ยังหวังที่จะเข้าคณะแพทยศาสตร์ โดยไม่รู้ว่าคณะนี้ไม่รับเด็กค้างปี และผลสอบโอเน็ตต้องเป็นปีเดียวกับที่จบ ม.6 เท่านั้น หลังได้ข้อมูลจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ.พิจารณา ว่า เข้าข่ายทุจริตหรือไม่ ในวันที่ 25 มี.ค. นี้

         ส่วนกรณีนักเรียน ม.6 ที่ร้องผ่านสื่อว่าข้อสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ยาก และเปลี่ยนลักษณะข้อสอบและรูปแบบกระดาษคำตอบบางวิชาแบบกระชั้นชิดไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้เด็กเตรียมตัวไม่ทันนั้น กรณีนี้ตนได้แฟกซ์ชี้แจงให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ตอบกระทู้สดในสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกันนี้แล้ว ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าข้อสอบโอเน็ตทุกข้ออิงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น วิชาสังคมศึกษา ตามหลักสูตรฯ ต้องการให้เด็กคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง คำถามที่ว่าฟิลิปปินส์เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศไหนบ้าง จึงต้องตอบทั้งอเมริกาและสเปน ถ้าเด็กคุ้นเคยกับข้อสอบแนวคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงก็จะไม่มีปัญหา

         รศ.ดร.อุทุมพรกล่าวอีกว่า การเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบจากเลือกตอบ 1 ใน 4 ตัวเลือกเป็นเลือกหลายตัวเลือก หลายคำตอบ ก็เพื่อให้การวัดผลแม่นยำขึ้นและการเดาถูกลดลง เพราะการเลือกตอบ 1 ใน 4 ตัวเลือก ทำให้เด็กมีโอกาสเดาถูก 25% สทศ.ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบฉับพลัน แต่ค่อยๆ ปรับทีละน้อย ประมาณ 10-20% ของคะแนนเต็ม และเปลี่ยนแค่บางวิชาเท่านั้น

         ผอ.สทศ.ยืนยันอีกว่าการสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ปีหน้า วิชาไหนที่ข้อสอบเป็นรูปแบบเดียว จะปรับเพิ่มเป็นสองรูปแบบ ส่วนวิชาไหนที่ข้อสอบมากกว่า 1 รูปแบบ อยู่แล้วก็จะคงรูปแบบเหล่านั้นและคงสัดส่วนเปอร์เซ็นต์นั้นต่อไป

         "การเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบและกระดาษคำตอบของชั้น ม.6 นั้น จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบและพูดคุยกับเด็ก ม.6 พบว่า เด็กเข้าใจ แม้แต่เด็กตาบอดก็ยังบอกว่าเข้าใจ ไม่สับสน เด็กที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าคณะแพทยศาสตร์ จึงกังวลว่าจะทำคะแนนโอเน็ตไม่ถึง 60% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของการสมัครคณะนี้ แต่ความจริงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ควรต้องขอบคุณ สทศ. เพราะเท่ากับเด็กที่เข้าไปได้ ก็เนื่องจากความรู้ความสามารถจริงๆ ไม่ใช่การเดา ซึ่งคนที่จะเป็นหมอควรต้องเก่งไม่ใช่เข้าไปได้เพราะเดาถูกเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเข้าไปแล้วเรียนไม่ไหวต้องถูกรีไทร์ หรือลาออกในภายหลัง" ผอ.สทศ.กล่าว

         รศ.ดร.อุทุมพรกล่าวอีกว่า ข้อสอบที่หลากหลายเช่นนี้ ครูควรนำไปใช้สอบเด็กด้วยซ้ำ เด็กจะได้คุ้นเคยและฝึกคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่คุ้นแต่ข้อสอบท่องจำ อย่างไรก็ตาม จากการที่มีการนำข้อสอบโอเน็ตมาเผยแพร่ทางสื่อ รวมถึงมีผู้ปกครองบางคนซีร็อกซ์ข้อสอบโอเน็ตชั้น ป.6 มาพูดคุยซักถามกับตน ซึ่งถือว่าขัดระเบียบในเรื่องไม่สามารถนำข้อสอบออกนอกห้องสอบได้ ดังนั้น นับจากนี้บนหัวกระดาษข้อสอบทุกวิชาจะเขียนข้อความชัดเจนว่า "ห้ามผู้ใดนำข้อสอบออกไปเผยแพร่ทั้งในที่ลับหรือแจ้ง ก่อนที่ สทศ.จะประกาศผล และห้ามผู้คุมสอบอ่านข้อสอบให้เด็กโดยเด็ดขาดด้วย มิเช่นนั้นถือว่ามีความผิดตามมาตรา..." ทั้งนี้ จะเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับข้อสอบการวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และการวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ในเดือน ก.ค.2553 ที่จะถึงนี้

         ส่วนกรณีมีผู้ปกครองร้องเรียนว่าข้อสอบโอเน็ตชั้น ป.6 ล่อแหลมนั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นวิชาสุขศึกษาที่ถามเรื่องเพศศึกษา ได้ถามถึงสัญลักษณ์ของห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง ซึ่งตนไม่คิดว่าล่อแหลม และจากการติดตามการแสดงความคิดเห็นของเด็กที่เข้าสอบโอเน็ตชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 บนเว็บไซต์ต่างๆ พบว่า เด็กจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อสอบ ซึ่งมีทั้งบอกว่ายากเกินไป หรือไม่เหมาะสม หรือไม่สมเหตุสมผล ซึ่ง สทศ.ได้เก็บข้อมูลทั้งหมดและนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ออกข้อสอบแล้ว ซึ่งพบว่าข้อสอบทั้งหมดมีเนื้อหาได้มาตรฐานตามที่กำหนด ยกเว้นกรณีข้อสอบวิชาภาษาไทย ระดับชั้น ป.6 ที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น การเดินทาง ซึ่งเด็กนักเรียนต่างจังหวัดจะตอบไม่ได้เพราะไม่เคยอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น สทศ.จึงตัดสินใจให้คะแนนฟรี จำนวน 4 ข้อ รวม 16 คะแนนให้กับนักเรียน ป.6





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สทศ. ไม่หวั่น ยัน เดินหน้าปรับข้อสอบ โอเน็ต อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14:44:57
TOP