x close

สทศ.ร้อน เด็กโวยข้อสอบ O-net เหมาะสมแล้วหรือ?!?!

สอบ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           นับเป็นการลุกฮือในภาคการศึกษาที่สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมหันมาสนใจปัญหาของน้อง ๆ วัยเรียน และระบบการศึกษาไทยอีกครั้ง เมื่อประเด็นข้อสอบ O-net ที่ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) ใช้สอบกับนักเรียน ม.6 ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2553 มีเด็ก ๆ ที่ผ่านการสอบออกมาโวยกระหึ่มตามโลกไซเบอร์ และนำไปสู่การตีแผ่ผ่านสื่อโทรทัศน์ ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 เนื่องจากเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ข้อสอบ O-net ครั้งนี้เป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่มีความเหมาะสม ทั้งยังยากเกินขอบเขตอีกด้วย

           ยากอย่างไร ไม่เหมาะสมอย่างไร สงสัยไหมคะ ถ้าอย่างนั้น ลองมาดูตัวอย่างของข้อสอบบางข้อกันค่ะ......

ตัวอย่าง  : โจทย์วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา (จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว)

1. นางสาวนิดเป็นคนสวยมาก จึงมีชายหนุ่มมาติดพันเธอหลายคน เธอชอบไปเที่ยวกลางคืน  ต่อมานางสาวนิดท้องไม่มีพ่อ อยากทราบว่าทำไมนางสาวนิดถึงมีเพื่อนชายมาติดพัน


           1. นิดสวยมาก

           2. นิดมีอัธยาศัยดี

           3. นิดปฏิเสธไม่เป็น

           4. นิดชอบเที่ยวกลางคืน

2. ข้อใดเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้ดีที่สุด

           1. หยุดเรียนไประยะหนึ่งเพื่อคลอดลูก

           2. ทำแท้งเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้

           3. ลาออกจากโรงเรียนแล้วหางานทำเพื่อลูก

           4. แจ้งความเพื่อหาผู้รับผิดชอบ

3. นักเรียนอยากคบเพื่อนแบบใด

           1. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

           2. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

           3. อัธยาศัยดี

           4. มีน้ำใจ

           จากตัวอย่างข้อสอบที่ยกมาทั้ง 3 ข้อ จะเห็นได้ว่า คำถามที่ใช้เป็นคำถามปลายเปิด และคำตอบก็มีความเป็นไปได้เกือบทุกข้อ เช่น ในข้อ 3 เพื่อนที่อยากคบเป็นคนแบบใด เป็นการสอบถามทัศนคติในการคบเพื่อน จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะตอบไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนก็อาจจะอยากมีเพื่อนในแบบที่ต่าง ๆ กันออกไป ซึ่งทุกคำตอบย่อมไม่ผิด(จริงไหม) และแม้คำถามบางข้อจะมีคำตอบอยู่ในตัว แต่การใช้หลักวัดจากตรรกะและเหตุผลต่าง ๆ ก็ยังไม่สมเหตุสมผลและค่อนข้างกำกวม (อันนี้คือประเด็นที่เด็ก ๆ ทำข้อสอบร้องเรียน)

           นอกจากความงงงวยในข้อสอบ O-net หลาย ๆ ข้อ ยังมีประเด็นการให้คะแนนที่ดูจะเป็นปัญหา โดยนักเรียนมัธยมปลายหลายเสียงบอกว่า เป็นการใจร้ายเกินไปกับเด็กที่ไม่ใช่หัวกะทิ เพราะมีข้อสอบบางตอน บางวิชา ที่ต้องเลือกคำตอบให้ถูกต้องทุกข้อย่อยในแต่ละข้อ เช่น ต้องเลือกคำตอบให้ถูกสองหรือสามตัวเลือกขึ้นไป จึงจะได้คะแนน ซึ่งหมายความว่า หากคุณรู้คำตอบแค่ครึ่งเดียว แล้วข้อย่อยอื่น ๆ ตอบผิด คะแนนในข้อนั้น ๆ จะเป็นศูนย์ทันที เท่ากับว่า เด็กเก่ง หรือเด็กที่รู้จริง ๆ เท่านั้นที่จะได้คะแนนไป

           แต่สำหรับเด็กที่หัวกลาง ๆ กับกลุ่มเด็กที่ไม่เก่งเลย ผลจะออกมาไม่ต่างกัน กล่าวคือ ในกลุ่มเด็กหัวกลาง ๆ ถ้าพวกเขามั่นใจหรือรู้คำตอบในคำถามข้อนั้นเพียง 2 ข้อ แต่คำถามบังคับให้ต้องตอบให้ถูกทั้งหมด 4 ข้อย่อย อีก 2 ข้อที่ไม่มั่นใจ ไม่รู้ และตอบผิด คะแนนในข้อนั้น ๆ จะเป็นศูนย์ ส่วนกลุ่มที่ไม่รู้คำตอบเลย ถ้าเดาคำตอบทั้ง 4 ข้อ แล้วมีผิดบางส่วน หรือผิดหมด นั่นก็ศูนย์คะแนนเช่นกัน จึงเห็นได้ชัดว่า ระบบการให้คะแนนแบบนี้จะคัดเด็กที่รู้จริง ๆ เท่านั้น

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ อุไรวรรณ ศิวะกุล หรือ อาจารย์อุ๊ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง ได้แสดงความเห็นไว้ว่า.... จริง ๆ แล้ว ถ้าเด็กถูกครึ่งหนึ่ง ทำไมคุณไม่ให้คะแนน  ก็เด็กคนนี้เก่ง 50% แล้วคุณจะให้เค้าเก่ง 100% ได้ยังไง ในโรงเรียนยังมีเลยว่าคนนี้ได้ 50% คนนี้ได้ 100% ทำไมล่ะ ทุกคนต้องเก่ง100% เลยเหรอ แล้วปีหน้าสอบใหม่ก็ไม่ได้นะ เพราะสอบโอเน็ตให้แค่ครั้งเดียว

           "ยังมีประเด็น เด็กที่สอบโอเน็ตปีนี้กับเด็กปีที่แล้ว เด็กที่สอบปีที่แล้วจะได้เปรียบ เพราะข้อสอบโอเน็ตที่ผ่านมาเป็นแบบธรรมดา คือ ถูกข้อได้ข้อ ถูกสองได้สองคะแนน แต่ข้อสอบใหม่ ถูกไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้คะแนน ทำให้คะแนนเด็กรุ่นใหม่ลู่ลงมา ปัญหาจึงอยู่ที่ถ้าเด็กกลุ่มเก่า มายื่นแอดมิชชั่นพร้อมเด็กใหม่ เด็กรุ่นนี้จะเสียเปรียบแล้ว" อาจารย์อุ๊ กล่าว

           อาจารย์อุ๊ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องของการออกข้อสอบผิด ซึ่งคนที่ออกข้อสอบแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนมีสิทธิ์ผิดได้ และทั้งครู-นักเรียนก็สามารถรับได้ ถ้ามีการแก้ไข แต่มันก็ยังเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมต้องให้ผิด เพราะนี่มันเป็นข้อสอบระดับชาติ

           "จริง ๆ คนที่เค้าทำระบบแอดมิชชั่น เราก็มองว่าเค้าตั้งใจนะ ตั้งใจมาก ๆ แต่ทำไมไม่เก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และทำไมไม่ทำการวิจัยอย่างชัดเจนก่อนว่ามันดี เป็นที่ยอมรับ แล้วถ้าจะออกข้อสอบแบบนี้ ทำไมไม่ให้โรงเรียนได้ฝึกเด็กก่อน และให้เด็กทั่วประเทศได้ข้อมูลที่เหมือนกัน และผ่านการวิจัย เพราะถ้าไม่ผ่านการวิจัย แล้วแก้ระบบเรื่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้เด็กคือหนูทดลองของระบบการศึกษาไปเรื่อย ๆ ซึ่งน่าจะทำให้มันนิ่งก่อน ไม่ใช่เปลี่ยนรายวันแบบนี้" อาจารย์อุ๊ กล่าว

           ด้าน รศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เป้าหมายของโอเน็ตที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัดคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียน ถ้าหากพบว่าโรงเรียนไหนด้อย ก็จะได้มีการปรับการเรียนการสอนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับความรู้มากขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่าข้อสอบโอเน็ตออกตามหลักสูตรกลางที่ทุกโรงเรียนใช้สอน ส่วนประเด็นที่เฉลยข้อสอบไม่ถูก ก็จะมีการตอบจดหมายที่ร้องเรียนมาโดยอธิบายกลับไปให้นักเรียนที่สงสัยทุกราย

           และในประเด็นที่หลายคนมองว่า มาตรฐานข้อสอบแต่ละปีมีความยากง่ายไม่เท่ากันนั้น อาจารย์อุทุมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการจัดสอบโอเน็ตในแต่ละครั้ง ทาง สทศ. จะทำผังการออกข้อสอบว่าข้อสอบแต่ละเนื้อหาจะออกกี่ข้อ และทำขึ้นเว็บด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่าข้อสอบจะออกอะไร ทิศทางไหน และหลังจากสอบโอเน็ตทั้ง 3 ครั้งเสร็จแล้วก็จะมีการวิเคราะห์ว่าความยากง่ายแต่ละครั้งต่างกันไหม ซึ่งผลออกมาคือ มันก็ไม่ต่าง

           ส่วนเรื่องรูปแบบของข้อสอบโอเน็ตที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้นั้น ผอ.สทศ. ก็แจงว่า...

           "ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ข้อสอบปรนัยแบบ 4 ตัวเลือก โดยให้ลูกคำตอบที่ถูกข้อเดียว จะเห็นได้ว่าเด็กอาจมีโอกาสเดาถูก 1 ใน 4 แสดงว่าข้อสอบเราไม่ได้วัดได้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการที่จะวัดได้จริง ก็จะต้องเปลี่ยนรูปแบบ การสอบครั้งนี้เราจึงเพิ่มตัวเลือกให้มากขึ้นเป็นสิบ ๆ ตัวเลือก แล้วอีกเรื่องคือเราพบปัญหาเด็กไทย เด็กไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือ เราก็เพิ่มความยาวโจทย์ด้วย จากบรรทัดเดียวเป็น 3-4 บรรทัด เราก็เปลี่ยนแค่นี้ ก็งงว่าประเทศไทยเราไม่รู้เหรอว่าข้อสอบมีตั้ง 80 แบบ พอ สทศ.เปลี่ยนรูปแบบมา ดันกลายเป็นเรื่องใหม่ ทั้งที่มันมีมาตั้งนานแล้ว เราปรับเพื่อให้คะแนนเป็นคะแนนที่สะท้อนความสามารถจริงของเด็ก มากกว่าที่จะเป็นคะแนนมั่ว ๆ"

           พร้อมกันนี้ ผอ.สทศ. ยังบอกด้วยว่า การสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ปีหน้า วิชาไหนที่ข้อสอบเป็นรูปแบบเดียว จะปรับเพิ่มเป็นสองรูปแบบ ส่วนวิชาไหนที่ข้อสอบมากกว่า 1 รูปแบบอยู่แล้ว ก็จะคงรูปแบบเหล่านั้นและคงสัดส่วนเปอร์เซ็นต์นั้นต่อไป

           ขณะเดียวกัน ก็มีประเด็นข้อร้องเรียนของผู้ปกครองนักเรียน ป.6 ที่เข้าสอบโอเน็ต โดยระบุว่า ข้อสอบโอเน็ตวิชาสุขศึกษาที่ถามเรื่องเพศศึกษาครั้งนี้ล่อแหลม ถามถึงสัญลักษณ์ของห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ดร.อุทุมพร ชี้แจงว่า ไม่คิดว่าล่อแหลม และจากการติดตามการแสดงความคิดเห็นของเด็กที่เข้าสอบโอเน็ตชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 บนเว็บไซต์ต่าง ๆ พบว่า เด็กแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อสอบว่า ยากเกินไป ไม่เหมาะสม หรือไม่สมเหตุสมผล ซึ่ง สทศ.ได้เก็บข้อมูลและนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ออกข้อสอบแล้ว พบว่าข้อสอบทั้งหมดมีเนื้อหาได้มาตรฐานตามที่กำหนด

          อย่างไรก็ตาม สทศ.ยอมรับว่า กรณีข้อสอบวิชาภาษาไทย ระดับชั้น ป.6 มีคำถามที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง เช่น เรื่องการเดินทางในกรุงเทพฯ ทำให้เด็กนักเรียนต่างจังหวัดตอบไม่ได้ ดังนั้น สทศ.จึงตัดสินใจให้คะแนนฟรี จำนวน 4 ข้อ รวม 16 คะแนน


           รศ.ดร.อุทุมพร กล่าวอีกว่า การที่ สทศ.ออกข้อสอบที่หลากหลายในครั้งนี้ ครูควรนำไปใช้สอบเด็ก เด็กจะได้คุ้นเคยและฝึกคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่คุ้นแต่ข้อสอบท่องจำ อย่างไรก็ตาม จากการที่มีการนำข้อสอบโอเน็ตมาเผยแพร่ทางสื่อ รวมถึงมีผู้ปกครองบางคนซีร็อกซ์ข้อสอบโอเน็ตชั้น ป.6 มาพูดคุยซักถามกับตนนั้น ถือว่าขัดระเบียบ เพราะไม่สามารถนำข้อสอบออกนอกห้องสอบได้ ดังนั้น นับจากนี้บนหัวกระดาษข้อสอบทุกวิชาจะเขียนข้อความชัดเจนว่า "ห้ามผู้ใดนำข้อสอบออกไปเผยแพร่ทั้งในที่ลับหรือแจ้ง ก่อนที่ สทศ.จะประกาศผล และห้ามผู้คุมสอบอ่านข้อสอบให้เด็กโดยเด็ดขาดด้วย มิเช่นนั้นถือว่ามีความผิดตามมาตรา..." ทั้งนี้ จะเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับข้อสอบการวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และการวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ในเดือน ก.ค.2553 ที่จะถึงนี้

           และทั้งหมดนี้คือข้อทักท้วง และข้อชี้แจงบางส่วน ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งฝ่ายที่ยอมรับ และยังไม่เห็นด้วยกับข้อสอบโอเน็ตในครั้งนี้ แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้กันบ้าง





คลิปร้องเรียนเรื่องสอบ O-NET จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3

 



คลิปร้องเรียนเรื่องสอบ O-NET จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สทศ.ร้อน เด็กโวยข้อสอบ O-net เหมาะสมแล้วหรือ?!?! อัปเดตล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 16:49:45 4,576 อ่าน
TOP