x close

23 ม.รัฐ รับ admission ปี 53 5.1 หมื่นคน




23 มหาวิทยาลัยรัฐ รับแอดมิสชั่นส์ 5.1หมื่นคน "อักษร-ศิลปกรรม"จุฬาฯ รับตรง100% แต่ไม่ครบ (มติชนออนไลน์)

         เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานฟอรั่มแอดมิสชั่นส์ ปีการศึกษา 2553 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และรักษาการเลขาธิการ ทปอ.เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรัฐ 23 แห่ง ได้แจ้งจำนวนรับนิสิตนักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2553 ผ่านระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ดังนี้

     + จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3,492 คน 
     + มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 8,183 คน 
     + มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) 2,160 คน 
     + มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 2,176 คน 
     + มหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.) 815 คน 
     + มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 864 คน 
     + มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) 1,507 คน 
     + มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 1,235 คน 
     + มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 3,585 คน 
     + มหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) 540 คน 
     + มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) 265 คน 
     + มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) 2,134 คน 
     + มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) 3,940 คน 
     + มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) 2,057 คน 
     + มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 1,404 คน 
     + มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มมจ.) 1,890 คน 
     + มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) 1,375 คน 
     + มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) 1,500 คน 
     + มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 1,692 คน 
     + มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) 2,922 คน 
     + มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) 2,556 คน 
     + มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) 2,768 คน และ
     + สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 2,273 คน 

          รวม 51,333 คน คิดเป็น 40% ของจำนวนรับทั้งหมด

          "จำนวนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ แจ้งในปี 2553 น้อยกว่าปีการศึกษา 2552 เพียง 774 คน โดยปีที่แล้วรับ 52,107 คน อีกทั้งการรับผ่านระบบแอดมิสชั่นส์กลางนั้น ทั้ง 23 มหาวิทยาลัย ใช้องค์ประกอบในการคัดเลือกตามมติ ทปอ.ได้แก่ ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือ GPAX 20% ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต 30% การทดสอบศักยภาพทั่วไป หรือ GAT 10-50% และการทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT 0-40%" นายมณฑลกล่าว

          นายมณฑลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการรับนิสิตนักศึกษาผ่านระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 23 แห่ง ในปีการศึกษา 2553 คิดเป็นสัดส่วน 60% โดยปีนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ได้นำคะแนน GAT และ PAT มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

          กลุ่มที่ 1 ใช้คะแนน GAT และ PAT ในระบบรับตรง 

          1.1 ใช้คะแนน GAT และ PAT ในการรับเข้าตามสาขาวิชา และคณะต่างๆ ระหว่าง 90-100% จำนวน 10 แห่ง ดังนี้ จุฬาฯ มอ. มบ. มมส. มน. มทษ. มอบ. มฟล. มนพ. และ มนร., 

          1.2 ใช้คะแนน GAT และ PAT ในการรับเข้า 25-50% จำนวน 5 แห่ง ดังนี้ มก. มธ. มศก. มจธ. และ มจพ.และ 

          1.3 ใช้คะแนน GAT และ PAT ในการรับเข้าบางส่วน จำนวน 3 แห่ง มม. มช. และ มข. 

          กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ไม่ใช้คะแนน GAT และ PAT ในการรับตรง

          จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ มศว มทส. มวล. มมจ. และ สจล.

          "โดยปีนี้มีมหาวิทยาลัยที่หันมาใช้คะแนน GAT และ PAT เป็นองค์ประกอบในการรับตรงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช้คะแนน GAT และ PAT นั้น จะใช้คะแนนเฉลี่ยสะสม หรือ GPA ใช้การสอบสัมภาษณ์ หรือใช้วิธีอื่นๆ แทน" นายมฑลกล่าว

          แหล่งข่าวจากจุฬาฯคนหนึ่ง กล่าวว่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รับนิสิตผ่านระบบรับตรง 100% ปีการศึกษา 2553 เป็นปีแรก 300 คน แต่รับได้ไม่เต็ม ขาดประมาณ 100 คน เพราะเด็กสละสิทธิไปเลือกคณะอื่น เช่น คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น คณะอักษรศาสตร์จึงประสานขอรับผ่านระบบแอดมิสชั่นส์กลาง เพื่อให้ได้นิสิตเต็มจำนวน

          นายศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รับนิสิตผ่านระบบรับตรง 100% จำนวน 120 คน แต่รับได้จำนวน 90 กว่าคน โดยผู้ที่สอบได้ในภาควิชานฤมิตศิลป์ และทัศนศิลป์ สละสิทธิไปเลือกมหาวิทยาลัยแรกที่ประกาศผล และชำระเงินแล้ว ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ที่จ่ายค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ แล้ว แต่สละสิทธิมาเลือกจุฬาฯ คาดว่า มหาวิทยาลัยที่รับตรงจะเจอปัญหาเดียวกันหมด คือดึงเด็กกันเอง อย่างไรก็ตาม คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะรับรอบสอง และไม่เข้าร่วมแอดมิสชั่นส์กลาง รวมถึง ปีการศึกษา 2554 จะรับผ่านระบบรับตรง 100%


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
23 ม.รัฐ รับ admission ปี 53 5.1 หมื่นคน โพสต์เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 16:37:32
TOP