x close

ศธ. เล็งลดวิชาสอบโอเน็ต บางวิชาอาจให้โรงเรียนประเมินเอง

ศธ. เล็งลดวิชาสอบโอเน็ต บางวิชาอาจให้โรงเรียนประเมินเอง
ศธ. เล็งลดวิชาสอบโอเน็ต บางวิชาอาจให้โรงเรียนประเมินเอง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            ศธ. เล็งลดวิชาสอบโอเน็ต พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เสนอช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ชั้นดี สั่งสำรวจการใช้จ่ายของครู แก้ไขปัญหาหนี้สินครู

           วันนี้ (31 ตุลาคม 2557) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งมี พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายยุวทัศน์ ที่เสนอให้ปรับลดสัดส่วนของการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้ที่จบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

           โดยได้ขอให้ลดสัดส่วนของปีการศึกษา 2557 ที่กำหนดให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และผลโอเน็ต ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เหลือเท่ากับปีการศึกษา 2556 ที่กำหนดไว้ที่ 80 ต่อ 20 ซึ่งในเรื่องนี้ที่ประชุมมีความเห็นหลากหลายจึงยังไม่ได้ข้อสรุป

           แต่ทั้งนี้ พล.ร.อ. ณรงค์ ได้เน้นย้ำว่า หลังจากนี้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องพัฒนาในเรื่องคุณภาพมาตรฐานการสอบให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่ยอมของสังคม โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้า พล.ร.อ. ณรงค์จะเดินทางไปตรวจเยี่ยม สทศ. พร้อมทั้งหารือเรื่องการจัดสอบต่าง ๆ โดยอยากให้การวัดผลทุกชนิดเน้นที่ผู้เรียนเป็นหลัก และต้องเกิดผลต่อผู้เรียน


           นอกจากนี้จะหารือด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การสอบโอเน็ตจะลดวิชาการสอบในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้น้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องสอบให้ครบ 8 กลุ่มสาระฯ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจัดสอบเฉพาะวิชาหลักเท่านั้น ส่วนวิชาอื่น เช่น สังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง สุขศึกษา อาจให้โรงเรียนเป็นผู้วัดและประเมินผลเองในรูปแบบที่หลากหลายกันไป โดยในส่วนนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเป็นตัววัด แต่อาจจะวัดผลจากพฤติกรรม หรือพัฒนาการของผู้เรียนที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์แทน

           นางสุทธศรี กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งได้เน้นย้ำว่าควรไปสำรวจการใช้จ่ายเงินของครูทุกวันนี้ว่า ครูมีการใช้จ่ายอย่างประหยัด และยึดถือตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ถ้ายังควรส่งเสริมในเรื่องนี้ให้มาก

           ส่วนกรณีที่มีการเปิดช่องทางให้ครูสามารถกู้เงินได้หลากหลายช่องทางนั้น ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ไปหาแนวทางแก้ปัญหาแล้วกลับมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง

           นอกจากนี้ นางสุทธศรี ยังกล่าวถึงกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า จากการประชุมคณะกรรมการกองทุน กยศ. ได้มีการพิจารณาโครงการรณรงค์ชำระหนี้ ซึ่งทางกองทุน กยศ.ได้เสนอที่จะจัดโปรโมชันลดหย่อนหนี้ในปี 2558 ให้กับลูกหนี้ที่ค้างชำระและไม่ค้างชำระ หากนำเงินมาปิดบัญชีจะได้รับการลดหย่อนหนี้ 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้น รวมทั้งลดเบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามการจัดโปรโมชันในลักษณะนี้ อาจจะเป็นสาเหตุให้ลูกหนี้รอโปรโมชันในปีต่อไปอีกก็เป็นได้ ที่ประชุมจึงให้ทางกองทุนฯ กลับไปทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งว่าควรจะมีโปรโมชันในลักษณะดังกล่าวต่อไปหรือไม่

           นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังมีการเสนอว่าควรจะมีการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยติดค้าง ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีวินัยทางการเงิน โดยควรจะมีการลดหย่อนเงินกู้ให้ด้วย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับคนทำดี และ กยศ. ไม่ควรจะมีมาตรการเดียวคือการปิดบัญชี แต่ควรจะยืดหยุ่นให้ปิดบัญชีตามศักยภาพ โดยอาจจะจ่าย 2-3 งวด เพราะการปิดบัญชีรวดเดียวเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก จึงเสนอให้ กยศ. ไปพิจารณาหาแนวทางอื่นด้วย ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะบอร์ด กยศ. จึงได้ให้ กองทุน กยศ. รับความเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ และให้นำกลับมาเสนออีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศธ. เล็งลดวิชาสอบโอเน็ต บางวิชาอาจให้โรงเรียนประเมินเอง อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2557 เวลา 12:12:14
TOP